You are using an outdated browser. Please upgrade your browser to improve your experience.

กำแพงเพชร-คลังจังหวัดกำแพงเพชร จัดแถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชร ปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
ข่าวรอบบ้าน

กำแพงเพชร-คลังจังหวัดกำแพงเพชร จัดแถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชร ปี 2564 และแนวโน้มปี 2565


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2564 เวลา 14.00 น. นายเชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธาน ในการแถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชร ปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 พร้อมทีมเศรษฐกิจฯ ได้แก่ นางยุภารัตน์ เนื่องจำนงค์ คลังจังหวัดกำแพงเพชร นายนิกร ภากรนิพัทธ์ ประธานหอการค้าจังหวัดกำแพงเพชร นายณภัทราพลพ์ จันทร์เชื้อ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกำแพงเพชร นายอนันต์ โฆษิตพิพัฒน์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร นายสมเกียรติ ราชคมน์ อุตสาหกรรมจังหวัดกำแพงเพชร และนายบรมัตถ์พงษ์ พลเยี่ยม พาณิชย์จังหวัดกำแพงเพชร ผ่านระบบวิดีโอถ่ายทอดสดทาง Facebook (Facebook Live) ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ สำนักงานคลังจังหวัดกำแพงเพชร


นายเชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ให้ความสำคัญกับข้อมูลเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชร ที่สำนักงานคลังจังหวัดกำแพงเพชรและคณะกรรมการประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชร จัดเก็บ รวบรวม และประมวลผล พร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดทำรายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชรปี 2564 และแนวโน้ม ปี 2565 ให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้นำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายหรือวางแผนพัฒนารวมถึงการต่อยอดทางธุรกิจ จึงได้จัดงานแถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชร ปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 โครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชร ขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 48 ลำดับที่ 2 ได้แก่ ภาคบริการ มีสัดส่วนร้อยละ 31 และภาคเกษตรกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 21 จังหวัดกำแพงเพชรจึงเป็นฐานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้แก่ โรงงานน้ำตาล จำนวน 3 แห่ง โรงงานเบียร์ไทย (1991) จำกัด มหาชน หรือโรงงานเบียร์ช้าง และโรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับปัจจัยสนับสนุนประกอบการตัดสินใจ ที่สำคัญด้านการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ คือ จังหวัดกำแพงเพชรเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ที่สมบูรณ์ และเพียงพอต่อการผลิต และมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตสินค้าแปรรูป จากผลผลิตทางการเกษตร อย่างเช่น ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงานที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ของจังหวัด เศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชร



ในปี 2564 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -2.3 ทั้งจากด้านการผลิตและด้านการใช้จ่าย โดยด้านการผลิตหดตัวจากภาคบริการ ที่มียอดขายจากธุรกิจค้าส่งค้าปลีกลดลงตามกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง จากการปฏิบัติตามมาตรการ เฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จังหวัดประกาศอย่างเคร่งครัด ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร ขยายตัวจากปริมาณการผลิตหินปูนก่อสร้าง ตามปริมาณความต้องการหินเพื่อใช้ในการก่อสร้างที่ภาครัฐมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่จังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง และภาคเกษตรกรรม ขยายตัวเนื่องจากเกษตรกรมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการผลิต ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าว และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น สำหรับด้านการใช้จ่าย คาดว่าจะหดตัวจากการบริโภคภาคเอกชน โดยสะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดค้าส่งค้าปลีกที่ลดลง ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการออกสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 การใช้จ่ายภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวจากการเป็นปัจจัยหลักที่รัฐบาลใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด รวมถึงส่วนราชการภายในจังหวัดได้มีการติดตามเร่งรัดผู้รับจ้างให้ดำเนินการเป็นไปตามสัญญา เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผนที่กำหนด



ในปี 2565 เศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชร คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 ทั้งจากด้านการผลิตและการใช้จ่ายขยายตัว โดยด้านการผลิต คาดว่าจะขยายตัวจากภาคบริการ เนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 อย่างทั่วถึง ส่งผลให้ผู้ประกอบการและประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้ตามปกติ ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะขยายตัวจากโรงงานอุตสาหกรรมกลับมาดำเนิน การผลิตได้ตามปกติ โดยสะท้อนจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น และปริมาณ การผลิตหินแร่ที่ใช้ในการก่อสร้างยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ภาคเกษตรกรรม คาดว่า จะขยายตัวจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ราคาผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งการดูแลในระหว่างการเพาะปลูกเพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพที่ดีขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ด้านการใช้จ่าย คาดว่า จะขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชน จากการที่ประชาชนสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้ตามปกติมีรายได้สำหรับการซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวจากการที่ผู้ประกอบการ มีความเชื่อมั่น และรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านแหล่งเงินทุนในการขยายธุรกิจเพื่อรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ การใช้จ่ายภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลที่จะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้ง การฟื้นฟูเยียวยาหลังวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ข่าว/ภาพ นายวิทยา จตุรภาค  สมาคมนักข่าวส่วนกลางและท้องถิ่นกำแพงเพชร

สนับสนุนข่าวโดย

1
2
3
4

8
9
10
12
15
16

17


คุณสามารถแบ่งปันเนื้อหานี้!

แสดงความคิดเห็น